ภูมิปัญญาท้องถิ่น
เครื่องมือที่ใช้ในการไถนา
ชาวบ้านในสมัยโบราณ ได้คิดทำเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพในกลุ่มของเกษตรกรรม การทำนาปลูกข้าวเป็นหนึ่งในอาชีพของชาวบ้านในชนบททั่วไป เกือบทุกครอบครัวจะมีการทำนาเพื่อให้ได้ข้าวไว้กินตลอดปี ที่เหลือ จากการสำรองไว้เพื่อครอบครัวแล้วก็นำออกจำหน่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างอื่นบ้าง การทำนาในสมัยก่อนเป็น การทำเกษตรแบบพอมีพอกิน
ดังนั้นเครื่องมือในการทำนาก็ได้ปะดิษฐ์คิดทำขึ้นใช้เอง ในบรรดาเครื่องมือในการประกอบอาชีพทั้งหลาย เครื่องมือที่ใช้ในการไถนา หรือคันไถ ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่ง ใครเป็นคนคิดทำเป็นคนแรกไม่มีใครรู้ แต่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา การสร้างเครื่องมือเหล่านี้ต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะต้องหาไม้เนื้อแข็งที่เหนียวและมีลักษณะใกล้เคียงกับชิ้นส่วนที่ต้องการทำ ซึ่งแต่ละชิ้นส่วนจะมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อรวมกันเป็นชุด จะประกอบด้วย (เรียกชื่อตามที่เรียกกันในจังหวัดนครศรีธรรมราช) หัวหมู หางยาม คันไถ แอก คราด ดังรูปข้างบน
| |
| |
หัวหมู | ผาน |
หัวหมูทำจากไม้เนื้อแข็ง สามง่าม ด้านหน้ามีเดือยสำหรับไว้ครอบด้วยผาน ซึ่งทำด้วยเหล็ก และมีรูเดือยสหรับเชื่อมต่อด้วยหางยาม หน้าแป้นของหัวหมูจะพลิ้วเพื่อให้ดินพลิกออกด้านข้างด้านซ้าย
หางยาม
หางยาม ทำจากไม้เนื้อแข็งที่มีลักษณะโค้งงอ ด้านล่างมีเดือยสำหรับต่อกับหัวหมู และตรงกลางจะมีรูเดือยสำหรับต่อกับหางยาม ใช้ประโยชน์เพื่อการบังคับหัวหมู ทั้งในด้านทิศทางและความตื้นลึกของการไถ
คันไถ
คันไถ ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีลักษณะโค้งงอ 2 ชั้นดังรูป ใช้เป็นตัวเชื่อมระหว่างหางยามกับแอก เป็นตัวกลางที่จะลากหัวหมูให้เดินหน้าตามแรงเดินของวัวหรือควายที่ใช้เทียม
แอก
แอก ทำจากไม้เนื้อแข็งที่มีความโค้งงอเล็กน้อย เจาะรูข้างละ 2 รู เพื่อใส่ไม้เหลากลมข้างละ 2 ซี่ สำหรับครอบลงบนคอวัว (ในภาพไม่มีซี่ เพราะหาไม่ได้แล้ว) ใช้เประโยชน์ในการบังคับวัวไม่ให้เดินออกนอกทาง และเป็นต้นแรงที่วัวจะลากคันไถ หางยาม หัวหมูให้พลิกดินที่ไถ
คราด
ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เจาะรูสำหรับใส่ซี่คราก ซึ่งทำด้วยไม้เนื้อแข็งเช่นเดียวกัน ถัดจากซี่กลางข้างละ 2 ซี่ จะใช้ซี่ยาวเพื่อทำเป็นคันคราด สำหรับจับเพื่อบังคับการคราด และมีรูเดือยสำหรับเชื่อมต่อกับคันไถ คราดใช้ประโยชน์หลังจากการไถ ทำให้ดินร่วน เล็กลง และทำให้เป็นตม พร้อมที่จะหว่านหรือปักดำต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น