วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เทคโนโลยีสารสนเทศกับการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน

แนวโน้มการวิจัยทางเทคโนโลยีการศึกษาตามนโยบาย


การวิจัยทางเทคโนโลยีการศึกษาเป็นการศึกษาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงต่างๆ ในประเด็นที่เป็นปัญหาต่างๆ เพื่อเสาะแสวงหาความรู้ เทคนิค วิธีการ ตลอดจนข้อสรุปต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาการศึกษา สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลต่อแนวทางในการวิจัยทางเทคโนโลยีการศึกษาก็คือนโยบายและแผนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับกระทรวง ระดับหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินงานในด้านต่างๆ รายละเอียดดังนี้
1. นโยบายและแผนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการศึกษา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการจัดการด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยกำหนดขอบเขตครอบคลุมไปถึงการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาบุคลากร การวิจัย การจัดตั้งกองทุนและหน่วยงานกลางเพื่อวางนโยบายและบริหารงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษา หากพิจารณาในภาพรวมในระดับประเทศ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ โดยได้กำหนดกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ.ศ. 2544-2553 ของประเทศไทย ในการให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับบริการที่ทั่วถึงเท่าเทียม มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ โดยมีกลไกการบริหารนโยบายและการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศเพื่อการศึกษา และสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกระดับ โดยเร่งพัฒนาและจัดหาความรู้(Knowledge)และสาระทางการศึกษา(Content) ที่มีคุณภาพและเหมาะสม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ อีกทั้งแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย พ.ศ. 2545-2549 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2545 ได้กำหนดให้ทุกกระทรวงต้องจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขึ้น ซึ่งในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษา (E-Education) มีเป้าหมายในการสร้างความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ทั้งหมดของประเทศ เพื่อช่วยกันพัฒนาให้เกิดสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เน้นการจัดหา จัดสร้าง ส่งเสริม สนับสนุน โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและการเรียนรู้ รวมถึงวิชาการ ความรู้ สารสนเทศต่างๆ อันจะมีส่วนในการจัดการและการบริหารการศึกษาและการฝึกอบรมทั้งวิชาการและทักษะเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพความรู้ของทรัพยากรมนุษย์ของไทยให้เป็นประชากร กำลังคนและแรงงานที่มีคุณภาพและสมบูรณ์ด้วยปัญญาและการเรียนรู้ สามารถสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมประเทศที่พัฒนาไปแล้วได้โดยเร็ว ในส่วนของการศึกษากำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบโดยได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2547-2549) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ผู้เรียนทุกคน สถานศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษาทุกแห่ง มีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การวิจัย การพัฒนา อาชีพ การบริหารจัดการ การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยได้รับการบริการอย่างทั่วถึงเท่าเทียม มีคุณภาพและประสิทธิภาพ นำไปสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ โดยการนำ ICT มาสนับสนุนการจัดการศึกษา ทั้งด้านการเรียนรู้และการบริหารจัดการ โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพประสิทธิภาพการเรียนรู้ การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ การผลิตและพัฒนาบุคลากรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ICT เป็นต้น ทั้งนี้จากการรวบรวมนโยบายและแผนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ดังนี้
1. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545)

2.แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545–2549)

3. กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ.ศ. 2544-2553 ของประเทศไทย

4. แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2547 – 2549)

5.แผนแม่บทงานวิจัยในสาขาเทคโนโลยีการศึกษา

ประวัติส่วนตัว

นันทนา (เสื้อสีขาวค่ะ)

ชื่อ นาง นันทนา เจริญภักดี

ที่อยู่ 6 หมู่ 3 ต. หลุมดิน อ. เมือง จ. ราชบุรี 70000.

การทำงาน ครูจ้างสอน (โรงเรียนวัดบางลี่)

การศึกษา ปริญญาตรี (การจัดการทั่วไป)
สถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง


ปัจจุบัน กำลังศึกษาต่อ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู
ศูนย์ราชโบริกานุเคราะห์ รุ่นที่ 10